วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

" คนพอเพียง เลี้ยงชีพด้วยการให้ แบ่งปัน เสียสละ ชีวิตที่มั่นคง มีคุณค่า และผาสุกที่สุดในโลก "

ชายคนหนึ่งเปลี่ยนชื่อตนเองจาก "สำเริง มีทรัพย์" เป็น "ใจเพชร กล้าจน" ในทางหนึ่งเป็นความพยายามบอกกับทุกคนถึงสิ่งที่เขายึดเหนี่ยว จุด หมายชีวิตแท้จริงที่ชายผู้นี้ยึดถือ คือ ความพยายามช่วยเหลือให้เพื่อนมนุษย์ได้หายจากโรคภัย โดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท... ด้วยการรักษาแบบ "แพทย์วิถีพุทธ"
"หมอ เขียว" หรือ ใจเพชร กล้าจน จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เขาพยายามรักษาผู้ป่วยตามวิชาแพทย์ที่ได้ร่ำเรียนมาอย่างเต็มที่ แต่พอทำไปได้ชั่วระยะ คนเป็นหมอก็ต้องผจญกับคำถามในใจที่ไหนคำตอบกับตัวเองไม่ได้เสียที

"ทำไมทุกคนยังป่วย ทั้งที่เครื่องมือแพทย์ทันสมัยขึ้น ทำไมรักษาไปแล้วแพงขึ้นทุกวัน ที่สำคัญเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกลับป่วยแซงหน้าชาวบ้านอีก"
ยิ่ง คิด ก็ยิ่งงง เขาว่า ไม่เพียงเท่านั้น ตัวหมอเองที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดและปวดข้อ ใช้ยาที่ดีที่สุดของโรงยาบาลรักษาแล้วแต่ก็ไม่หายความสงสัยนี้ทำให้หันกลับ มาศึกษาแพทย์ ทางเลือกและนำมาใช้ร่วมกับแผนปัจจุบันผลปรากฏว่าคนไข้หายเพิ่มขึ้นเกือบเท่า ตัว แต่นับแล้วก็ยังได้แค่ 40 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้ทั้งหมด ซึ่งทำให้หมอเขียวยังคาใจต่ออีกว่า ทำไมอีก 60 เปอร์เซ็นต์ รักษาไม่ได้ คนที่รักษาได้ก็กลับมาเป็นใหม่ หรือการแพทย์ที่ทำอยู่จะมาผิดทาง หมอเขียวเครียดกับเรื่องนี้มากจนต้องไปปฏิบัติธรรม แต่พอได้อ่านพระไตรปิฎกก็พบว่า คำตอบทั้งหมดอยู่ในนี้แล้ว

โดย หมอเขียว : ใจเพชร กล้าจน

แพทย์วิถีธรรมและครูฝึกแพทย์แผนไทย ศูนย์สุขภาพสวนป่านาบุญ
นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลอำนาจเจริญ

คำนำ........

แท้จริงแล้วสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนทุกคนก็คือ ชีวิตที่มั่นคง มีคุณค่าและผาสุก ซึ่งตามความคิดของคนทั่วไปส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า ความรวยเท่านั้น ที่จะทำให้ได้มาซึ่งสิ่งดังกล่าว แต่พระพุทธเจ้า ในหลวง และปราชญ์แห่งความดีงามที่แท้จริงแต่ละท่าน กลับมีความคิดและความจริงที่ตรงกันข้ามกับคนทั่วไป คือ ท่านเหล่านั้นล้วนพบตรงกันว่า การมีกินมีใช้ส่วนตัวให้น้อยที่สุดเท่าที่พอดี เท่าที่จำเป็น เท่าที่ไม่ทรมานตน ในส่วนที่เกินความพอดี เกินความจำเป็นก็แบ่งปันเสียสละไปยังบุคคล/สถานที่ที่ควรให้ให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เป็นสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมั่นคง มีคุณค่าและผาสุกที่สุดในโลก ผู้เขียนได้ทดลองฝึกฝนปฏิบัติทั้งสองแนวคิด จึงได้พบว่า การที่จะได้ชีวิตที่มีสภาพดังกล่าวนั้นเกิดจากการปฏิบัติตามแนวคิดของพระ พุทธเจ้า ในหลวง และปราชญ์แห่งความดีงามที่แท้จริงแต่ละท่าน และเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อผู้เขียนพยายามทำให้ตัวเองรวยมากขึ้นๆ กลับให้ผลตรงกันข้าม ผู้เขียนได้สังเกตและเก็บข้อมูลจากการปฏิบัติตัวของท่านอื่นๆก็ให้ผลทำนอง เดียวกัน จึงได้นำข้อมูลเรื่องราวที่ผู้เขียนได้เรียนรู้ฝึกฝน มาเล่าให้ผู้เข้าอบรมค่ายสุขภาพวิถีธรรม ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สวนป่านาบุญ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ได้ทราบข้อมูล หลังจากอบรมก็มีหลายท่านต้องการเนื้อหาดังกล่าว ผู้เขียนจึงได้จัดทำเป็นหนังสือเล่มนี้ ด้วยการถอดเทปและปรับปรุงเนื้อหาการบรรยายเพิ่มเติม เพื่อให้เนื้อหาสมบูรณ์และเป็นประโยชน์กับผู้อ่านมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะพอเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้าง
จริงใจ ไมตรี มีอภัย ไร้ทุกข์
ใจเพชร กล้าจน
คนพอเพียง



คนพอเพียง จะเลี้ยงชีพด้วยการให้ แบ่งปัน เสียสละ จึงทำให้ชีวิตเป็นอยู่อย่างคนจน เพราะยิ่งให้ แบ่งปัน เสียสละ ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิตออกไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหลือทรัพย์สมบัติของกินของใช้ส่วนตัวน้อยลงเท่านั้นๆ ถ้ามองเผินๆการปฏิบัติดังกล่าว น่าจะทำให้ชีวิตมีแต่ความทุกข์ ลำบาก ขาดแคลน เสียเปรียบ โง่ที่สุดในโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่า คน
ที่ ขยันทำกิจกรรม/การงาน/กุศลธรรม/สิ่งที่ดีงามต่างๆอย่างเต็มที่ ตัวเองก็กินน้อยใช้น้อยแค่พอดีสบาย ไม่มากหรือน้อยเกินจนทรมานตน เก็บสิ่งที่จำเป็นไว้เท่าที่จะสามารถดำเนินหน้าที่กิจกรรมการงานไปได้ ที่เหลือทำการให้ แบ่งปัน เสียสละ ไปในบุคล/สถานที่ที่ควรให้ อันเป็นคุณสมบัติ/คุณลักษณะของคนพอเพียงที่แท้จริง กลับเป็นสุดยอดแห่งความชาญฉลาดของการปฏิบัติตน ที่ทำให้ชีวิตมั่นคง มีคุณค่า และผาสุกที่สุดในโลก
พระพุทธเจ้า ในหลวง และปราชญ์แห่งความดีงามที่แท้จริงแต่ละท่าน ล้วนเป็นต้นแบบของคนพอเพียงที่แท้จริง เพราะแต่ละท่านล้วนขยันกระทำในสิ่งที่ดีงาม แต่กินใช้ส่วนตัวเพียงเล็กน้อย
ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวธรรมของภิกษุ (ผู้ปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์) ซึ่งเป็น ผู้สันโดษ (ยินดีในความมักน้อยอย่างพอเหมาะ) อยู่เสมอ ด้วยปัจจัย (สิ่งที่จำเป็นในการยังชีพ)ที่น้อย หาได้ง่ายและไม่มีโทษ ว่าเป็นองค์ (องค์คุณองค์ประกอบ) แห่งความเป็นสมณะ (ผู้สงบจากทุกข์ผู้พ้นทุกข์)” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๘๑)
จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าค้นพบว่า ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องใช้สิ่งจำเป็นในการยังชีพที่น้อย หาได้ง่ายและไม่มีโทษ ดังนั้น วิธีการที่ประหยัด เรียบง่าย จึงเป็นคำตอบของการพ้นทุกข์ พระองค์ท่านทรงค้นพบว่า การดับทุกข์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้สิ่งที่หาได้ง่าย อยู่ในตัวหรือใกล้ตัวเรา มาปรับสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจ
สอดคล้องกับพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง (๔ ธ.ค.๓๔) “เราเลยบอกว่า ถ้าจะแนะนำก็แนะนำได้ ต้องทำแบบ “คนจน” เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง ประเทศเหล่านั้น ที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว”
“แต่ถ้าเรามีการบริหาร แบบเรียกว่าแบบ “คนจน” แบบไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่าง
มี สามัคคีนี่แหละ คือเมตตากันก็จะอยู่ ได้ตลอดไป คนที่ทำงานตามวิชาการ จะต้องดูตำรา เมื่อพลิกไปถึงหน้าสุดท้ายแล้ว ในหน้าสุดท้ายนั้น เขาบอก “อนาคตยังมี” แต่ไม่บอกว่าให้ทำอย่างไร ก็ต้องปิดเล่มคือปิดตำรา ปิดตำราแล้ว ไม่รู้จะทำอะไร ลงท้ายก็ต้องเปิดหน้าแรกใหม่ เปิดหน้าแรกก็เริ่มต้นใหม่ ถอยหลังเข้าคลอง แต่ถ้าเราใช้ ตำราแบบ “คนจน” ใช้ความอะลุ่มอล่วยกัน ตำรานั้นไม่จบ เราจะก้าวหน้าเรื่อยๆ ” จะเห็นได้ว่า ในหลวงทรงพบว่า การแก้ปัญหาหรือพัฒนาที่ก้าวหน้าที่สุดนั้น ต้องกระทำอย่างประหยัดที่สุดคือใช้เงินหรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้น้อยที่สุด (ทำแบบ คนจน) แต่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เมื่อส่วนตัวกินใช้เพียงเล็กน้อย ทำกิจกรรมการงานด้วยสิ่งที่ประหยัดเรียบง่ายที่สุด แต่เกิดประโยชน์สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็เหมือนกับการใช้ชีวิตแบบคนจน ที่เหลือก็แบ่งปันเกื้อกูลผู้อื่น ก็จะทำให้เราและผองชนได้ประโยชน์สุขในชีวิต



------------------------ ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ให้ของดี ย่อมได้ของดี” (องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๔๔), “ปราชญ์ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความ สุข”(องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๔๕), “ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ย่อมได้สิ่งที่เลิศอีก”(องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๕๖), “ผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ ย่อมถึงฐานะที่ประเสริฐ” (องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๔๖), “นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๘ ข้อ ๑๐๗๓)

ซึ่งเราต้องทำสิ่งดังกล่าวด้วยตัวของเราเอง ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๒)
ดังนั้นการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ มีคุณค่าและผาสุก ก็คือชีวิตที่เกิดมาเพื่อพึ่งตนและช่วยคนให้พ้นทุกข์ นี้คือคุณค่าแท้ของชีวิต ดังนั้น ภารกิจที่ดีที่สุดในโลก คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ชีวิตตนมีความผาสุกอย่างยั่งยืนด้วยสิ่งที่ประหยัดเรียบ ง่าย แล้วทำให้เพื่อนร่วมโลกผาสุกอย่างยั่งยืนด้วยสิ่งที่ประหยัดเรียบง่าย เท่าที่จะทำได้
มีอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์จากดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาคุยกับผมว่าที่หมอเขียวมาบ่นๆว่าโรงเรียนนั้นโรงเรียนนี้ไม่ค่อยได้สอน เรื่องความผาสุกที่แท้จริงเลย อาจารย์ท่านนั้นก็เล่าให้ผมฟังว่า ก็มีหลายท่านพยายามทำอยู่ เราก็ดีใจนะ มีหลายท่านพยายามทำอยู่ ไม่ใช่เราทำคนเดียว มีคนบุญมีเทวดามาช่วยกันคนละไม้คนละมือ อาจเพราะหูตาเราไปไม่ถึงก็ได้ จริงๆก็พอเห็นอยู่บ้าง แต่ผู้ที่จะสอนวิชาให้คนผาสุกอย่างยั่งยืนนั้นมีน้อย เพราะแต่ละท่านที่ทำอยู่มันจะยากมาก แต่สอนวิชาให้เก่งนั้นง่ายและมีมาก แต่เมื่อไม่มีคุณธรรมแล้ว ความเก่งจะเป็นความโง่ที่ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น คนที่ไม่มีคุณธรรม เขาจะเอาความเก่งมาทำร้ายตัวเองและสังคม ไม่มีประโยชน์อะไร เก่งแล้วไร้ค่า ถ้าไม่มีคุณธรรม ความจริงแย่กว่าไร้ค่า เพราะเลวร้ายกว่าไร้ค่า
วันนี้ผมจะพูดถึงชีวิต ที่มีความผาสุกอย่างยั่งยืนว่าจะทำ ได้อย่างไร ลองปฏิบัติพิสูจน์ดู การทำความดีจะทำให้ได้ความผาสุกที่ยั่งยืน ความดีที่สำคัญอันหนึ่งคือความจน ความจนคือสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับชีวิต ชีวิตใครจนได้ ชีวิตนั้นมีความผาสุกได้ ชีวิตใครจนไม่ได้ ชีวิตนั้นก็ไม่มีความผาสุกที่แท้จริง

ครู บาอาจารย์ของผมยกให้ในหลวงองค์นี้ เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม พระโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่จะมาบำเพ็ญให้ผองชนมีความผาสุกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือหน้าที่ของพระโพธิสัตว์ ในเมื่อท่านมาบำเพ็ญเพื่อให้มนุษย์เป็นอยู่อย่างผาสุก แล้วทำไมท่านตรัสเรื่องความจนเอาไว้ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า การใช้สิ่งที่ประหยัดเรียบง่าย จะทำให้พ้นทุกข์ ก็แปลว่าจนนั่นแหละ ซึ่งสอดคล้องกับที่ในหลวงตรัสไว้ ต้องทำแบบคนจน ประหยัด ไม่ต้องกินใช้มากก็ได้ ถ้าพี่น้องฟังเข้าใจจะเหมือนยกภูเขาออกจากอกเลย จน แบบในหลวงน่ะ จนแบบมีอยู่มีกินนะ ไม่ใช่ไม่มีอยู่ไม่มีกิน ไม่ใช่จนแบบสิ้น ไร้ไม้ตอก หลายคนเข้าใจว่าเป็นความจนแบบสิ้นไร้ไม้ตอก ไม่ใช่นะ เป็นความจนอีกแบบ จนแบบมีอยู่มีกิน เหลืออยู่เหลือกิน(มีเหลือแบ่งปัน) จนแบบมีความสุขที่สุดในโลก สุขกว่าคนรวย สุขกว่าคนจนที่สิ้นไร้ไม้ตอก สุขกว่าคนที่มีฐานะปานกลางแบบทั่วไป สุขแบบคนจนที่ไร้กังวล เป็นคนจนที่มีคุณค่าและผาสุกที่สุดในโลก “อุตสาหกรรม ถ้ามีมากเกินไปจะเป็นภัย” ในหลวงท่านตรัสเลยว่า ประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้ามากเกินไปมีปัญหาแน่ๆ ไม่ใช่จะไม่มีอุตสาหกรรมเลยนะ ให้มีแบบสมควร แต่ถ้ามีมากไปจะเป็นภัยเป็นโทษมากกว่าเป็นประโยชน์ ที่เขาไม่บอกว่าให้ทำอย่างไร ก็เพราะว่าเขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไร นักวิชาการทั้งหลายที่เด่นๆ อยู่ในโลก เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน เขาจึงเปิดๆ ปิดๆ ตำราอยู่นั่นแหละ เพราะเป็นตำราที่แก้ทุกข์ไม่ได้นั่นแหละแบบเก่า แต่ในหลวงท่านตรัสว่า ถ้าใช้ตำราแบบคนจน ใช้แบบอลุ้มอล่วยกัน จะก้าวหน้าเรื่อยๆ
ทำไมในหลวงผู้เป็นประมุขของ ประเทศจึงมีปรัชญาแนวคิด นโยบายให้ประชาชนมาจน แล้วบอกว่าจะก้าวหน้าเรื่อยๆ ถ้าคนฟังไม่เข้าใจ จะหูหักเลยจริงๆ แล้วบอกว่ามาจนนะดี ถ้าจนอย่างมีคุณค่าและผาสุก คือ จนอย่างมีชิวิตที่มั่นคง มีคุณค่าและผาสุก ซึ่งเป็นคนจนอีกประเภทหนึ่งที่ในระบบปกติทั่วไปไม่รู้ จึงไม่สอนกัน แต่ถ้าใครทำได้จะมีความสุขที่สุดในโลก จนอย่างไร คือ ฝึกให้และฝึกทำงานฟรี ซึ่งเป็นคนจนที่มีคุณสมบัติ/คุณธรรม ๕ ประการ ได้แก่
๑. พึ่งตน พึ่งตนในปัจจัย ๔ ได้ พึ่งตนในการดับทุกข์ของตัวเองได้
๒. เรียบง่าย มีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่รบกวนใคร ไม่รบกวนโลก สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาชีวิตหรือให้เกิดประโยชน์ในการดำรง ชีวิตหรือให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมการงาน จึงเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เขาจะอยู่ได้อย่างผาสุก
๓. ประหยัด จะกินน้อยใช้น้อย เท่าที่จะไม่ขาดแคลน ไม่ทรมานตน หรือเท่าที่จะสมบูรณ์แบบที่สุด
๔. ขยัน เพียรเต็มที่และพักพอดี
๕. แบ่งปัน จากการปฏิบัติคุณธรรมทั้ง ๔ ข้อ คือ พึ่งตน เรียบง่าย ประหยัด ขยัน จะทำให้มีเหลือ ในส่วนเหลือถ้าเก็บเอาไว้จะเป็นภาระเป็นภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น แต่ถ้าแบ่งปันออกไปก็จะเป็นบุญทั้งต่อตนเองและผู้อื่น คุณสมบัติ/คุณธรรมข้อนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตความสุขมากที่สุด และเป็นหลักประกันที่แท้จริงของความมั่นคงในชีวิต


“ความ สุขที่ซื้อไม่ได้ คือการแบ่งปัน/เสียสละ” คุณจะไม่มีความรู้สึกสุขแบบนี้ได้เลย ถ้าคุณไม่แบ่งปัน คือแม้คุณจะมีเงินเป็นล้านๆ แต่คุณก็จะไม่มีความสุข หรือได้ความรู้สึกว่าสุขที่สุดได้เลย ถ้าไม่แบ่งปัน คุณจะไม่มีความสุขเลย “ต้องให้ จนไม่มีอะไรจะเอา” จึงจะ เกิดสภาพ “ให้ จนไม่มีอะไรจะทุกข์” ชีวิตที่มั่นคง คือ ชีวิตที่ให้และเสียสละอย่างแท้จริง เรามาเรียนรู้ว่า ผู้ที่ให้จะมีความสุขอย่างไร ผู้ที่ให้จะยิ่งมีความสุขที่สุดในโลก ผู้ที่ให้คือผู้ทำงานฟรี อาชีพทำงานฟรี คือ เป็นอาชีพที่ดีที่สุดในโลก เป็นอาชีพที่มั่นคง มีคุณค่าและผาสุกที่สุดในโลก
ประโยชน์ของการเสียสละ ของการทำงานฟรี จะมีอานิสงค์อย่างน้อย ๗ ประการ
ขอ อนุญาตยกตัวอย่างตัวผมเอง อาจจะดูไม่งามนักที่ยกตัวอย่างตัวเอง แต่ก็เป็นความจริงที่สุดที่ผมเชื่อถือได้มากที่สุด เพราะสิ่งนั้นเกิดกับตัวผมเอง ผมได้ฝึกทำงานฟรีมา ๑๕ ปี ไม่เอาค่าตอบแทนใดๆมาเป็นของตัวเอง ถ้าเขาให้เราก็เอาเข้ากองบุญ ทุกวันนี้ไม่มีเงินส่วนตัวสักบาท มีศูนย์บาท กรรมการกองบุญเขาให้ก็ใช้ เขาไม่ให้ก็ไม่เป็นไร
ผมได้พบ อานิสงส์(ประโยชน์) ๗ ประการ คือ
๑. ไม่ตกงาน คนจะใช้งานเราอย่างตะบี้ตะบัน ช่วยทำให้หน่อย ต่อให้มีวิชาล้างจานอย่างเดียว เราก็ไม่ตกงาน คนทำงานฟรีจะมีงานทำทุกวันทั้งปีทั้งชาติ
๒. จะพอกินพอใช้ ถ้าเราไปทำงานฟรีๆ ไปช่วยเหลือคนฟรีๆ ไปเข้าบ้านไหน บ้านนั้น บ้านนี้ ไปขอล้างจานฟรี เชื่อว่าจะไม่อดตาย แม้ว่าจะไม่ขอของกินของใช้ก็ตาม เชื่อมั๊ยว่าเราจะพอกินพอใช้ กินใช้ไม่หมด ต่อให้เราไม่ต้องขอ ถ้าเราไปล้างจาน เขาจะให้เอง เขาไม่ให้ก็ไม่เอา ผลจากการทำงานฟรีผมอยากให้ท่านลองทายว่า จะเป็นข้อไหน ถ้าเรากินทั้งหมดที่เขาให้โดยไม่ต้องขอของกินของใช้ แต่ถ้าเขาให้ก็เอาเพราะชีวิตก็ต้องกินต้องใช้ ระหว่างอดตายกับพุงแตกตาย จะเกิดผลข้อไหน ผมรับรองว่าพุงแตกตาย อย่าว่าแต่พอกินพอใช้เลย จะเหลือกินเหลือใช้ด้วย ซึ่งเป็นอานิสงค์ข้อที่ ๓

๓. เหลือกินเหลือใช้ จะมีคนเอามาให้ตลอด อย่างผมไม่มีปัญญาซื้อรถ ก็จะมีคนเรียกร้องให้ขึ้นรถตลอด ขึ้นเครื่องบิน ขึ้นจนเมื่อยเลย ยิ่งกว่ารัฐมนตรี คนเขาเรียกร้องให้ไปขี้น ขึ้นจนเมื่อยเลยนะ คนหลายคนเขาคงแปลกๆงงๆ คนนี้ไม่มีรองเท้าใส่ แต่ก็ขึ้นเครื่องบินประจำเลย
ที่ พอกินพอใช้ เหลือกินเหลือใช้ เพราะคนจะเลี้ยงไว้ ถ้าเราทำงานเสียสละ คนจะเลี้ยงเราไว้ เขาเลี้ยงเอาไว้ใช้งานไง คนอย่างนี้อย่าเพิ่งให้ตาย เขาไม่อยากให้เราตาย เขาจะรักและถนอมเรามาก จะได้ใช้งานนานๆหน่อย เราก็ทำงานเต็มที่ เต็มใจ สุดฝีมือ คนเขาก็ยิ่งชอบ ทำงานฟรี บางทีเราทำงานล่วงเวลา บรรยายจนคนฟังเมื่อยเลย คนฟังแทบแย่ แต่คนพูดยังมีพลังลุยเต็มที่ การทำงานฟรีในอนาคตจะเป็นอาชีพของผู้เสียสละ อาชีพของผู้ฉลาดและผู้ประเสริฐที่แท้จริง

๔. จะมีมิตรเต็มเมือง ผู้ที่ให้จะมีมิตรเต็มเมือง จะมีญาติพี่น้องทางธรรมเยอะไปหมด ตอนนี้ผมไปนอนจังหวัดไหนก็ได้ ไปจังหวัดไหนก็มีญาติพี่น้องทางธรรมทุกจังหวัด เพราะมาเข้าค่ายทุกจังหวัดแล้ว ญาติพี่น้องทางธรรมก็ขอให้ผมไปอยู่ไปกินไปใช้ในทรัพย์สมบัติของท่านเหล่า นั้น ทุกจังหวัดทุกเวลา ก็ต้องขอขอบพระคุณในน้ำใจของพี่น้องทางธรรมทุกท่าน แต่ผมก็ไม่มีปัญญา ไปอยู่ไปกินไปใช้ได้ทั้งหมดทุกที่ ไปได้แค่บางที่บางเวลาที่เหตุปัจจัยจัดสรรให้ได้ไปทำประโยชน์ให้ประชาชนเท่า นั้น

๕. แม้เราทำเป็นอย่างเดียว แต่ก็จะได้หลายอย่างในเวลาเดียวกันได้ ต่อให้คนที่ให้เขามีความสามารถเพียงอย่างเดียว ถ้าเขาเป็นผู้ให้อย่างสุดความสามารถเลยนะ เขาจะได้หลายอย่างเลย ตรงกันข้ามถ้าคนที่มีความสามารถทำได้ทุกอย่าง แต่ถ้าไม่ให้ไม่แบ่งปันใครเลย เขาจะไม่สามารถได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน
อย่าง เรามีความสามารถอย่างเดียว แต่เราไปช่วยคนขับรถ คนสอนหนังสือเป็น คนดำนาเป็น ช่วยคนทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็น เวลาเราเดือนร้อน เขาก็จะมาช่วยเรา ต่อให้ไม่เดือนร้อน เขาก็อยากช่วยเรา นี้เป็นสัจจะ เป็นสังคมศาสตร์ธรรมดา
แต่ที่ลึกซึ้งกว่านี้ก็มี คือเมื่อเราให้สิ่งที่ดีไปแล้ว ต่อให้คนๆนั้นไม่ตอบแทนคุณ ถามว่าเราได้มั๊ย เราได้สิ่งที่ดี ทำความดี ได้วิบากดีแล้ว วิบากดีจะส่งผลดีให้เรา ซึ่งเป็น ผลดีหลากหลายรูปแบบที่เราคาดคิดไม่ถึง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ให้ของดี ย่อมได้ของดี” (องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๔๔), “ปราชญ์ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข”(องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๔๕), “ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ย่อมได้สิ่งที่เลิศอีก”(องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๕๖), “ผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ ย่อมถึงฐานะที่ประเสริฐ” (องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๔๖), “นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๘ ข้อ ๑๐๗๓)
หลาย คนไม่เข้าใจตรงนี้ พอไปทำความดีให้เขาแล้ว เขาไม่ตอบแทนความดีให้เรา แล้วเราก็น้อยใจ เจ็บใจ ฉันอุตส่าห์ทำดีกับเขา เขาก็ไม่ตอบแทนบุญคุณเรา แถมหักหลังเราอีกต่างหาก
ความจริงเขายอมให้เราทำ ความดีกับเขา ก็ต้องขอขอบคุณเขาอย่างมากแล้ว เพราะเราได้ทำดีแล้ว ได้วิบากดีๆ แล้ว รอรับผลดีอย่างเดียวแล้ว คนยอมให้เราทำดีนั้นดีที่สุดแล้ว เราได้ทำแล้ว ได้สั่งสมพลังงานดีแล้ว ทำวิบากดี วิบากดีก็รอส่งผลดีให้เราแล้ว เราจะไปเอาอะไรกับเขาอีก ทำไมเราเป็นคนโลภจัง จะไปเอาอะไรกับเขาอีก ถือเป็นความกรุณาอย่างสูงส่งแล้ว ถือเป็นการสั่งสมพลังงานดี และถ้ายิ่งโดนเขาด่าอีก ยิ่งได้สองต่อ เพราะเราได้รับสิ่งที่ไม่ดีเท่าไหร่ เวรกรรมเราก็หมดเท่านั้นๆ เขาช่วยทำให้วิบากที่ไม่ดีของเราหมดไป เราจะไปโกรธเขาทำไมล่ะ อย่าไปทุกข์เลย ได้สองต่อเลย ความดีก็ได้ เวรกรรมก็หมด ขาดทุนตรงไหน มีแต่กำไร ทำดีมีแต่กำไร ไม่มีอะไรขาดทุนเลย ชีวิตจะไม่มีอะไรขาดทุนเลย ถ้าทำดีจะมีแต่กำไร ผมยังไม่เคยเห็นอะไรขาดทุนเลย คนไม่ทำดีซิ ไม่ให้ ไม่แบ่งปันใครๆ คนๆนั้นไม่มีกำไรเลยมีแต่ขาดทุนอย่างเดียว
ถาม ว่า ถึงเรามีความสามารถหลายอย่างมากมาย แต่ไม่เคยให้ใครเลย ถามว่าเราสามารถทำทุกอย่างในเวลาเดียวกันได้ไหม ไม่ได้ใช่ไหม เรามีความสามารถมากมาย แต่ไม่เคยให้เลย เราก็จะไม่ได้ในสิ่งดีที่ควรได้ “คนที่ให้คือคนที่ได้” “คนที่ไม่ให้คือคนที่ไม่ได้” คนโง่ที่แท้จริง คือ คนที่มีความสามารถแต่ไม่เคยให้ใคร ก็จะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต คุณก็จะซวยตลอด นี่เป็นสัจจะนะ ฟังยากนะ มีโรงเรียนไหนสอนแบบนี้มั๊ย ส่วนใหญ่มีแต่จะสอนให้มีอาชีพสังคมบอกว่าสูง ค่าตอบแทนเยอะๆ สอนให้รวย มาที่นี่นะสอนกลับกันเลย ที่นี่สอนว่า ทำอย่างไรจะจนได้ ลูกศิษย์ผมมุ่งมาจนทั้งนั้น สอนวิชาจน อย่างมีชีวิตที่มั่นคง มีคุณค่า และผาสุกที่สุดในโลก นี่เป็นสัจจะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
๖. ธุรกิจจะมั่นคง ไม่ว่าจะทำธุรกิจที่เป็นสัมมาอาชีพอะไร ธุรกิจนั้นจะมั่นคง ทำไมถึงมั่นคง เพราะคนที่เราเกื้อกูลไว้เขาจะช่วยไว้ จะไม่ให้ล้ม เช่น เรามีร้านขายของชำ ร้านโชห่วย ร้านสิ้นค้า/บริการเล็กๆ แล้วมีห้างร้านทุนนิยมใหญ่ๆ เช่น Big C, Makro, Lotus, 7-11 มาตั้งข้างบ้าน เราจะไล่เขาได้มั๊ย ไม่ได้ แต่ละจังหวัดยกธงไล่ทั้งนั้น ไล่ได้แต่ปาก แต่เขาไม่ไป เขาซื้อกรรมการ ซื้อผู้มีอำนาจเซ็นอนุมัติได้หมดแล้ว เซ็นปุ๊บลงกลางเมืองเลยนะ ชาวบ้านที่ค้าขายสิ้นค้าและบริการที่เล็กๆก็เกิดความตกใจกลัว เพราะเขา ไม่รู้วิธีสู้กับทุนนิยม สู้กับทุนนิยมนั้นไม่ยากหรอก ก็อยู่แบบคนจน ถ้าเราไม่มีทุนมากเราจำเป็นต้องขายของแพงกว่าร้านใหญ่ๆบ้าง แต่เราไม่ได้เอามากเกินไป มันจำเป็น เราไม่อยากขายแพงหรอก เราก็บวกเท่าที่เราพออยู่ได้ มันก็สูงกว่าร้านยักษ์ใหญ่/นายทุนใหญ่ๆ ถามว่าร้านเราจะเจ้งมั๊ย ไม่เจ้ง เพราะคนที่เราเกื้อกูลไว้ เขาจะเกื้อกูลเรา เขาจะช่วยเราไว้ เขาบอกว่าให้เราเจ้งไม่ได้ เพราะเราเป็นผู้มีน้ำใจให้เขา ถ้าเราให้ แบ่งปัน ร้านเราก็ ไม่เจ้ง เราจะอยู่กับทุนนิยมได้
การทำธุรกิจอย่างมั่นคง ไม่มีอะไรยากหรอก คือ ฝึกให้ ครูบาอาจารย์ของผมบอกว่า วิชาธุรกิจไม่ต้องไปเรียนในสถาบันการศึกษาให้เสียเงินเสียเวลาหรอก(บางที เสียคนด้วย) ทำแค่ ๔ ข้อ แนวบุญนิยม ธุรกิจจะเจริญและมั่นคงได้แล้ว คือ


๑. ของดี เอาของที่ดีๆ มาให้ เอาสิ่งที่ปลอดภัย มีประโยชน์มาให้บริการ
๒. ราคาถูก จำหน่ายหรือให้บริการในราคาถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ เอาแค่พออยู่ได้ อย่าไปขายของแพง เอาแค่เลี้ยงชีวิตได้
๓. ซื่อสัตย์ อย่าไปโกหก บอกคุณสมบัติของสินค้า/บริการตามจริง เอาของดีๆ มาให้ของหมดก็บอกว่าหมด พอไม่มีก็บอกอย่างซื่อสัตย์ว่าไม่มี อย่าเอาของ ไม่มีคุณภาพมาให้ ต้องมีความจริงใจ ซื่อสัตย์ บอกไปตรงๆ เลยว่าซื้อมาเท่านี้ ขายเท่านี้ บอกไปเลยว่าเราต้องขายเท่าไร เช่น ซื้อมา 10 บาท ขาย 12 บาท ต้องเลี้ยงชีพบ้าง มีค่าแรงค่ารถ ถึงจะอยู่ได้ ซื่อสัตย์ไปเลย
๔. มีน้ำใจ “แบ่งปัน” ดังเป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า ว่า “นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๘ ข้อ ๑๐๗๓) และคำตรัสของในหลวง เศรษฐกิจพอเพียงจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการแบ่งปัน ถ้าไม่แบ่งปันเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่มีทาง ไม่แบ่งปันไม่มั่นคงในชีวิต ยิ่งถ้าแบ่งปันจะยิ่งมั่นคงในชีวิต ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โดยเริ่มจากซื่อสัตย์ต่อตนเอง คือ การพึ่งตนเอง อย่าไปรบกวนคนอื่น ขยัน อดทน มีสติปัญญา และแบ่งปัน จะทำให้ชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม สมดุลมั่นคงอย่างยั่งยืน
๗. ชีวิตมั่นคง มีคุณค่า และผาสุกที่สุดในโลก เมื่อเรามีคุณธรรมถึงขั้นพึ่งตน เรียบง่าย ประหยัด ขยัน และแบ่งปันแล้ว เราจะเป็นคนที่มีคุณค่า มีความประเสริฐ มีกุศล มีความสุข นั่นคือ ชีวิตที่มั่นคง มีคุณค่า และผาสุกที่สุดในโลก
หลายคนไม่รู้ว่าจะ ทำอย่างไร ให้ชีวิตพอเพียงอย่างผาสุก นักวิชาการจำนวนมากที่ไม่รู้จริง เขาทำไม่ได้หรอก เพราะเขายังไม่รู้เคล็ดแท้ๆ ที่ผมพาพี่น้องทำ ค่อยๆ บอกเคล็ดมาตั้งแต่วันแรก คือ กินข้าวกับเกลือ ความเป็นจริงก็ไม่ใช่กินข้าวกับเกลืออย่างเดียวหรอกใช่ไหม กินอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายด้วย เป็นการใช้ชีวิตที่กินอยู่อย่างประหยัดเรียบง่าย เป็นการกินใช้ที่น้อยที่สุดแต่สมบูรณ์แบบที่สุด ไม่น้อยเกินจนขาดแคลน ไม่มากเกินจนสิ้นเปลืองและเป็นภัย เคล็ดของการทำเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงของเรา เราเน้นการสร้างสุขภาพดีวิถีธรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง องค์ประกอบที่จะทำให้มีสุขภาพที่ดี ก็ต้องทำทุกเรื่องที่สำคัญของชีวิต การกินการใช้สิ่งต่างๆรวมถึงการทำหน้าที่กิจกรรมการงานที่ดีงามอันเป็นกุศล และการพักผ่อน ที่ได้สมดุลกายใจและสิ่งแวดล้อม มันเป็นวิชาทักษะของการดำเนินชีวิตให้ผาสุก
ต่อ ไปผมจะเล่าให้ฟังว่า คนรวยคือคนที่ซวยและน่าสงสารที่สุดในโลก ประเด็นที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าคนรวยซวยและน่าสงสารได้อย่างไร ประเด็นนี้ถ้า กศน.เข้าใจ และเผยแพร่สัจจะอันประเสริฐนี้ให้คนอื่นๆเข้าใจตามได้ พลิกฟ้าเลยนะ ความผาสุกสูงสุดจะกลับมาสู่โลกใบนี้ทันที
ความ รวย คือความซวยและน่าสงสารที่แท้จริงของชีวิต โดยสัจจะเลย ยิ่งรวยเท่าไร ยิ่งซวยและน่าสงสารเท่านั้นๆ คนยิ่งรวยยิ่งก่อให้เกิดความซวย เดือดร้อน ทุกข์ทรมานและความเลวร้ายทั้งตัวเองและผู้อื่น เดี๋ยวเราก็จะได้เรียนรู้กันว่า รวยจะทำให้ซวย เดือดร้อนทุกข์ทรมานหรือเลวร้ายได้อย่างไร
ถ้า ท่านฟังไปเรื่อยๆ จนเข้าใจเหตุผลด้วยปัญญาที่ชาญฉลาดแท้ในการดำรงชีวิตให้ผาสุกที่สุด ท่านจะไม่อยากรวย ความรวยคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิต เพราะความรวยจะนำความซวยและเดือดร้อนทุกข์ทรมานที่สุดในชีวิตมาให้เรา ดังนี้
คนที่มีใจอยากรวย ก็ทุกข์ตั้งแต่เริ่มอยากแล้ว นั่นคือ ความซวยและน่าสงสารอันดับแรก ต่อมาการพยายามทำให้รวย ก็ต้องทุกข์ เหนื่อย ต่อให้ทำด้วยความสุจริต ก็เหนื่อย ยิ่งอยากได้มากจนต้องหาวิธีคดโกงหรือเอารัดเอาเปรียบให้ได้มากๆ ยิ่งเหนื่อยสุดเหนื่อย เพราะต้องคิดหาวีธี ต้องลงมือทำและต้องระมัดระวังคนจะจับได้ การทำให้รวยจึงทุกข์ยากลำบากกว่าการไม่ต้องทำให้รวย พอได้ทรัพย์สมบัติมามากๆแล้ว จะรักษาไว้ก็ลำบาก ว่าต้องเอาทรัพย์สมบัติไปเก็บไว้ไหน จะดูแลรักษาอย่างไร ไม่ให้เสียหาย ไม่ให้ถูกลักขโมยฉ้อโกง ก็ทุกข์กายทุกข์ใจอีก ยิ่งพยายามจะให้รวยกว่าเดิมก็ยิ่งทุกข์กายทุกข์ใจหนักเข้าไปกว่าเดิมอีก
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เงินทองเป็นอสรพิษ” สมมติว่าเรามีเงินทองล้นฟ้า เราก็กินใช้ไม่หมด คนที่อยากมาอยู่ใกล้เงินทองมากๆ คือ คนโลภ ซึ่งคนโลภจะเป็นคนไม่ดี เงินทองของเราเอง จะพาคนไม่ดีเข้ามาอยู่ใกล้เรา เขาจะทำร้ายเราลักขโมยฉ้อโกงเราได้มั๊ย บางทีก็คนข้างตัวนั่นแหละที่ทำเช่นนั้น มีข่าวให้เราได้รับรู้อยู่บ่อยๆไม่ใช่หรือ คนใกล้ตัวที่มีความโลภ โกรธ หลง ก็จะรู้ความลับของคนรวยคนนั้นหมดเลย วางแผนทำร้ายได้อย่างเก่ง บางทีใส่ยาเบื่อในน้ำในอาหาร ตายมาเยอะแล้ว หรือคนรวยรวมถึงครอบครัวของคนรวย พอเดินทางไปที่โน่นที่นี่ โอกาสที่คนรวยหรือคนจนจะถูกเรียกค่าไถ่ได้มากกว่ากัน คำตอบก็คือคนรวย ดังนั้นคนรวยเดินทางไปนั่นไปนี่จะสบายใจมั๊ย เดี๋ยวนี้คนแต่งตัวดีๆมีมาก ไม่รู้หรอกว่าใครเป็นโจร โอกาสที่คนรวยจะมีอันตรายก็มากกว่า น่าสงสารนะ เงินที่เขามี เขาก็กินใช้ไม่หมด ในขณะที่เขาก็กินใช้ไม่หมด ส่วนเกินของเขาจะเป็นประโยชน์หรือโทษแก่เขา ก็เป็นโทษ เพราะเงินส่วนเกินจะดึงคนไม่ดี คนที่มีพิษมีภัยมาอยู่ใกล้ตัว คนโลภมาอยู่ใกล้ตัวเขา อันตรายก็อยู่ใกล้ตัวเขา เงินทองตัวเองกินใช้ก็ไม่หมด แต่ก็สร้างภาระและภัยให้กับตัวเองและครอบครัว
คน รวยกินใช้ไม่หมด กินจนท้องแตกตาย ก็กินใช้ไม่หมด คนจะรวยได้ ก็ต้องดึงเอามาจากคนอื่นให้มากๆ โดยความจริงทรัพย์สินเงินทองในโลกนั้นมีจำกัด คนรวยมากๆ ก็ต้องดูดมาจากคนอื่นมากๆ คนอื่นก็ขาด คนขาดเดือดร้อนมั๊ย คนขาดก็เดือดร้อน
คน รวยมีความคิดอย่างไร คนรวยก็จะภูมิใจจัง ที่เรากินใช้ไม่หมด คนอื่นอดตาย ชาตินี้กินใช้ไม่หมด ดีใจจัง แต่คนอื่นขาดแคลน คนอื่นอดตาย คนอื่นลำบาก เราดีใจ มันประเสริฐตรงไหน มันน่าภูมิใจตรงไหน เพราะเราเอามามาก คนอื่นก็ขาดมาก ภูมิใจตรงไหน คนอื่นก็เดือดร้อนมาก ถามว่าเป็นบุญตรงไหน ต่อให้หามาด้วยความซื่อสัตย์ ถามว่าเป็นบุญตรงไหน มันไม่มีบุญเลย มีแต่บาป ความรวยจึงคือความซวยและน่าสงสารที่สุด เพราะทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อนที่สุด
สมมติ ว่าคน ๒ คน ขยันทำงานเท่ากัน มีฝีมือเท่ากันไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ได้เงินทองทรัพย์สมบัติมาเท่ากัน นาย ก. สร้างบ้านใหญ่โต นาย ข. สร้างบ้านแค่พออยู่ แล้วที่เหลือก็แบ่งปันให้กับผู้ที่ควรให้ด้วยปัญญา ถ้าเกิดสึนามิ เกิดภัยพิบัติอย่างรุนแรง เกิดพายุ แผ่นดินถล่ม ฟ้าผ่า ไฟไหม้ น้ำท่วม ภัยพิบัติอะไรก็ได้ ทำให้บ้าน ๒ คนนั้นเสียหาย แต่รอดตายทั้งคู่ หนีออกมาได้ ถามว่าใครจะมีกินมีใช้ ใครจะอยู่รอด นาย ก. ไม่แบ่ง นาย ข. แบ่งปัน ใครจะอยู่รอด คำตอบคือ นาย ข. เพราะ เขาแบ่งปันไว้มาก นาย ก. ไม่ได้แบ่งปัน ระหว่างการเลือกช่วย นาย ก. และนาย ข. ท่านจะเลือกช่วยใครก่อน ช่วยนาย ข. แต่ละท่านต่างก็ตอบตรงกันว่าช่วยนาย ข.ก่อน นี้เป็นสัจจะชัดๆ เลยนะ ทรัพย์สมบัติคุ้มครองไม่ได้ วัตถุคุ้มครองเราไม่ได้ แต่ความดีคุ้มครองเราได้ “มิตรแท้ของเราคือความดีของเรา” เกิดอะไรขึ้นมาคนที่แบ่งปัน บุญ/ฟ้าจะส่งมาให้เลยนะ จะรอด ใครหวงไว้เยอะ ตัวเองกินใช้ก็ไม่หมด คนอื่นก็ไม่ได้กินไม่ได้ใช้สิ่งนั้น อยู่ก็ไม่มีบุญ ตายไปก็ไม่มีบุญ เกิดภัยพิบัติ ความเดือดร้อน ก็ไม่มีใครอยากช่วยเหลือ หรือได้รับการช่วยเหลือเป็นลำดับท้ายๆ แต่ถ้าเราแบ่งปัน เดี๋ยวคนนั้นก็ช่วย คนนี้ก็ช่วย แม้เราไม่เกิดอุบัติภัย คนก็ช่วย แม้เกิดอุบัติภัย คนก็ช่วย ใครไม่ช่วย ฟ้าก็ช่วย แล้วขาดทุนตรงไหน คนที่ไม่แบ่งปันคือคนที่น่าสงสารที่สุดในโลก “ศรัทตรูที่แท้จริงของเราคือความชั่ว/ความเห็นแก่ตัวของเรา”
เคยฟังนิทานในสมัยพุทธกาลมั๊ย มีลุงคนหนึ่งร่ำรวยมากแต่ขี้เหนียวมาก ไม่เคย แบ่งปันใครเลย ชาติไหนๆ ก็ไม่แบ่งปัน พอเกิดอุบัติภัยขึ้นมา จากเศรษฐีกลายเป็นคนจนเลย ไม่มีกิน จะไปขอข้าวขอแกง รอรับของแจก จากเศรษฐีใจดีที่ตั้งโรงบุญ จะแจกของกินของใช้ ๓ วัน ด้วยวิบากกรรมที่ไม่ดีจึงรู้ช้า ทำให้ไปถึงทีหลัง ไปต่อท้ายแถว พอเขาแจกมาถึงท้ายแถวก่อนจะถึงลุงขี้เหนียวคนนั้นก็หมดพอดี วันรุ่งขึ้นไปรับใหม่ ลุงขี้เหนียวตั้งใจตื่นแต่เช้าตี๓ตี๔ ไปรอแถวหน้าเลย เศรษฐีผู้ใจบุญบอกว่าเมื่อวานคนข้างหลังท้ายแถวไม่ได้ของกินของใช้ ให้แจกจากข้างหลังมาข้างหน้า พอมาถึงข้างหน้าก่อนถึงลุงขี้เหนียวก็หมดอีก มารอข้างหน้า ก็ไม่ได้กินไม่ได้ใช้อีก ลุงขี้เหนียวคิดว่าอีกวันคงได้ของกินของใช้ วันก่อนมานั่งข้างหลังไม่ได้กินไม่ได้ใช้ วันนี้มานั่งข้างหน้าก็ไม่ได้กินไม่ได้ใช้อีก ลุงขี้เหนียวจึงมานั่งตรงกลางในวันที่ ๓ หวังว่าจะได้ของกินของใช้ เศรษฐีผู้ใจบุญก็บอกว่า วันแรกคนที่อยู่ข้างท้ายก็ไม่ได้กินไม่ได้ใช้ก็น่าสงสาร วันที่ ๒ คนที่อยู่ข้างหน้าก็ไม่ได้กินไม่ได้ใช้ก็น่าสงสาร เอาอย่างนี้วันที่ ๓ วันสุดท้ายให้แจกจากหัวจากท้ายเข้ามาดีกว่า เลยแจกจากหัวจากท้ายเข้ามา ก่อนถึงตรงกลางหมดพอดี ๓ วันลุง ขี้เหนียวก็ไม่ได้ของกินของใช้เลย ไม่แบ่งไม่ปันก็ไม่ได้กินไม่ได้ใช้ ฟ้าเขาพยายามช่วยแล้วนะ แจกถึง ๓ วัน กรรมลิขิตแปลว่าวิบาก(ผล)กรรมของแต่ละคนเป็นผู้เขียนเรื่องให้กับชีวิตแต่ละ คน ชีวิตใครที่ไม่แบ่งปัน อันตราย วัตถุไม่ได้คุ้มครองเรา เราอาศัยวัตถุแค่ประมาณหนึ่ง ชีวิตไม่ได้ต้องอาศัยวัตถุมากมายหรอก ใช้ไม่มากหรอก ใช้เพียงเล็กน้อยก็มากพอที่จะเลี้ยงชีพได้อย่างเป็นสุขแล้ว อยู่ที่เงื่อนไขเราทำงานเต็มที่ กินใช้เพียงเล็กน้อยแค่พอดีไม่ขาดแคลน กินใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะสมบูรณ์แบบที่สุด ก็จะเหลือกินเหลือใช้ ที่เหลือจะจัดการอย่างไรกับทรัพย์สมบัติของเรา เมื่อเราทำงานเต็มที่เราก็เก็บวัตถุไว้แค่พอกินพอใช้ก็พอ โดยให้พอกินพอใช้ เป็น ๒ ส่วนนะ

๑. ส่วนของการเลี้ยงชีพ
๒. ส่วนของการดำเนินหน้าที่กิจกรรมการงาน เราทำหน้าที่กิจกรรมการงานอะไร ก็เก็บเอาไว้ใช้ เพราะเราต้องใช้ทุนรอน อาจเผื่อเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะมั่นคงที่สุด เท่าที่ที่จะดำเนินหน้าที่กิจกรรมการงานไปได้ โดยไม่ฝืดเคืองเกินไป เก็บไว้แค่นี้ก็พอแล้ว อย่าเก็บเอาไว้เกินนี้ ที่เหลือแบ่งปันไปในที่หรือคนที่ควรแบ่งปัน เก็บไว้ก็เป็นภาระเป็นภัยต่อตนเองและผู้อื่น สละออกไปเป็นบุญทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โลกก็ได้ประโยชน์ เราก็ได้ประโยชน์ เรายิ่งแบ่งปัน ต่อให้คนไม่ช่วย ฟ้าก็จะช่วย เพราะฟ้า(วิบากกรรมทั้งดีและไม่ดี)มีหน้าที่เขียนบทให้กับทุกชีวิตตาม กรรม(การกระทำ)ของผู้นั้นๆ

ผมพยายามช่วยคนไป เรื่อยๆ ช่วยฟรีๆ กรรมดีก็เขียนบทให้ทางโรงพยาบาลอำนาจเจริญ ร่วมบำเพ็ญบุญในการทำประโยชน์สุขให้กับประชาชน ด้วยการช่วยสร้างศูนย์สุขภาพที่เรียกว่า ศูนย์แพทย์วิถีธรรม ที่จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นศูนย์สุขภาพคล้ายกับศูนย์สวนป่านาบุญ โดยประสานให้ผมเป็นหัวหน้าเป็นผู้นำในการดำเนินงานที่ศูนย์ดังกล่าว เราช่วยคนในค่าย แม้คนที่มาเข้าค่ายจะไม่มาช่วยเราเลย ที่พูดนี้ก็ไม่ได้พูดเพื่อให้คนที่มาเข้าค่ายมาช่วยนะ เขาจะมาช่วยหรือไม่มาก็ได้ เป็นสิทธิส่วนบุคคลของเขา แต่เรามีหน้าที่ช่วยเขาให้ได้สิ่งที่ดีในชีวิตเท่าที่เราจะทำได้ เมื่อเราทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต่อให้คนที่เราช่วยเขาไม่ได้มาช่วยเรา ฟ้า(กรรมดี)ก็จะช่วยเราเอง ความดีที่เราทำก็จะเขียนบท/ดลบันดาลให้เราได้รับสิ่งที่ดีเอง ถ้าเราทำดีมากๆ เราจะได้รับสิ่งที่ดีหลากหลายลักษณะ หลายอย่างเป็นสิ่งที่เราคาดคิดไม่ถึง
พระ พุทธเจ้าท่านมีพระปรีชาญาณอันยิ่ง สุดยอดแห่งความชาญฉลาด ท่านตรัสรู้พบว่ากรรมดีกรรมชั่วมีจริงให้ผลจริง ท่านจึงหยุดชั่วและทำแต่ความดี ท่านสละออก ยิ่งสละยิ่งได้ ยิ่งทำความดี ยิ่งได้สิ่งที่ดี คนที่ยิ่งให้ยิ่งได้ ขนาดชาติสุดท้าย ท่านไม่เอาแล้วนะ ท่านสละบ้านสละเมืองออกไป บุญของท่านก็เขียนบท/ดลให้พระเจ้าพิมพิสารขอยกเมืองให้ มากกว่าใหญ่กว่าเมืองเดิมที่พระองค์เคยครองมาอีก ยิ่งให้ยิ่งได้ แล้วเราจะเอามาให้มากทำไม เอามาก็เป็นภาระเป็นภัยเปล่าๆ
ถ้า เราไม่จำเป็นต้องกินต้องใช้เราก็ไม่ต้องรับมาเป็นภาระ เป็นภัยเปล่าๆ ผมพยายามทำความดีเสียสละช่วยเหลือคนฟรีๆมาแค่สิบกว่าปี ทำโดยไม่ได้คิดว่าจะได้อะไรตอบแทน แต่กรรมดีที่เราทำก็พยายามส่งผลให้ผมเห็นบ้างอยู่ อย่างเช่นมีเทวดา(ผู้มีจิตใจดีงาม)หลายท่าน แจ้งกับผมว่า ให้ผมช่วยไปใช้พื้นที่ บ้าน รีสอร์ท ของท่านหน่อย จะใช้ชั่วคราวหรือใช้ทั้งชีวิตก็ได้ ผมเคยคำนวณคร่าวๆในที่ๆเทวดาอนุญาตให้ผมไปใช้ มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า หมื่นล้าน ผมก็ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง ผมก็ไม่ได้เอา แหมทำไมไม่ให้ก่อนหน้านี้ที่เราไม่ได้ปฏิบัติธรรม ถ้าให้ก่อนหน้านี้รับรองไม่เหลือ เราเอาแน่ๆ แต่ตอนนี้ปฏิบัติธรรมแล้วก็ไม่ได้อยากได้สิ่งเหล่านั้น นอนกระท่อมหลังเล็กๆมุงด้วยหญ้าคา พื้นทำด้วยเศษไม้เก่าๆแค่นี้ก็มีความสุขมากแล้ว ผมมีเพียงแค่นี้ก็แทบจะไม่มีเวลาเก็บกวาด แทบจะไม่มีเวลาดูแลแล้ว คนเรามีกินแค่พออิ่ม มีที่นอนเล็กๆพอหลับสบายและมีพื้นที่หรือมีคนให้เราได้ทำความดี แค่นี้ก็เป็นสุขที่สุดในชีวิตแล้ว ดังนั้นทรัพย์สมบัติที่เทวดายกให้ใช้ ผมก็ขออนุญาตใช้บางที่บางแห่งบางเวลา ที่เหตุปัจจัยจัดสรรให้สามารถทำประโยชน์สุขให้กับผองชนได้ ก็เป็นพระคุณอย่างยิ่งแล้วสำหรับชีวิตธรรมดาๆของผม ผมคิดว่าคนที่จะเป็นสุขที่สุดในโลก ก็คือคนที่ใช้ชีวิตอย่างธรรมดาๆ ให้มีคุณค่าและผาสุกที่สุด
ถ้าเราจำเป็นต้องกิน ต้องใช้ เราก็รับมาแค่พอกินพอใช้ ตอนนี้มีเทวดายกที่ดินใจกลางกรุงเทพฯให้ผม ท่านถามผมว่าหมอเขียวเอามั๊ย ผมพิจารณาดูแล้ว คนกรุงเทพฯจำนวนมากที่กำลังเดือดร้อนทุกข์ทรมานกับโรคภัยไข้เจ็บ ผมจึงรับไว้เพื่อสร้างศุนย์สุขภาพ จะได้เพื่อช่วยเหลือคนในเมือง ผมสงสารเขา แต่ยังไม่ได้ทำตอนนี้ เพราะยัง ไม่มีคนมากพอที่จะช่วยกันทำ เอาไว้ผมสร้างคนให้เสียสละให้ได้มากพอก่อน แล้วจะไปสร้างศูนย์สุขภาพไว้ช่วยคนกรุงเทพฯเขา เขาทุกข์มาก
การ ที่เราทำความดีแล้วต้องการเบิกบุญมาใช้ ก็มีวิธีเบิกบุญนะ มันมีเคล็ดอยู่ อย่าไปอยากได้นั่นอยากได้นี่ จะเอาเร็วๆ ฟ้าเขาจะขวางไว้ เขาจะแกล้งให้เราบรรลุธรรม ถ้าเรามีบุญนะ ฟ้าจะขวางไว้ ถ้าเราทำความดีมากๆ เรามีบุญจริงๆ ความลับวิธีเบิกบุญ คือ ให้ตั้งจิตไว้ว่า เราต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อจะทำบุญเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ได้ ถ้าได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร สิ่งนั้นจะมาเร็วก็ได้ มาช้าก็ได้ หรือไม่มาเลยก็ไม่เป็นไร จะมาแบบไหนหรือไม่มาเลยก็สุดแล้วแต่บาปบุญของโลก เรามีหน้าที่จัดสรรสิ่งที่กระทบหรือรับเข้ามาตามจริง ณ ปัจจุบัน ให้เป็นประโยชน์กับโลกให้ได้มากที่สุด เท่าที่เราจะทำได้เท่านั้น ถ้าเราและโลกมีบุญจริงเมื่อถึงเวลาอันควร เขาก็จะให้มาเอง ถ้าไม่มีบุญก็จะไม่มา สัจจะ(กรรม) จะจัดสรรให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรม
ผม เคยคิดเล่นๆ ว่า ถ้าเรามีเครือข่ายทั้งประเทศ จะเป็นอย่างไร พี่น้องที่มาครั้งละ ๓๐๐-๔๐๐ ท่าน แล้วท่านนั้นท่านนี้ไปช่วยจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ ไปช่วยคนนั้นคนนี้ให้มีสุขภาพดี คงจะดีนะ คิดไปคิดมา พี่น้อง กศน. ก็พากันมาอบรมที่นี่ทั้งภาคอิสานเลย ความฝันของผมอาจจะเป็นจริงก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะทุกอย่างก็เป็นไปตามธรรม ครูอาจารย์ได้สอนผมไว้ว่า เราทำเหตุปัจจัยที่ดีงามไปเรื่อยๆ ถึงเวลาอันควรมันก็จะปรากฏผลเอง ดอกไม้จะบานมันก็จะบานของมันเอง ไม่มีใครทำให้มันบานได้หรอก เราทำได้แค่ใส่ปุ๋ยรดน้ำพรวนดินไปเรื่อยๆอย่างพอเหมาะพอดีเท่านั้น
จะ มีหรือไม่มีการรวมบุญก็ได้ ผมวางใจแล้วนะ เพราะไม่มีวี่แววเลย เห็นตรงนั้นตรงนี้มา หลอมแหลม แต่เขาไปทำจริงนะ ที่จังหวัดน่านมีอสม. มากับทีมสาธารณสุข(หมออนามัย) มาแค่ ๑๐ คน พอเขากลับไป เขาไปลงหมู่บ้านทุกวัน เพราะเขามีอาวุธแล้ว มีอาวุธใช้ อาวุธนี้ไม่แพง แล้วก็ปราบโรคได้ ที่ผ่านมาอาวุธมันแพง แต่แก้ปัญหาหลายอย่าง ไม่ค่อยได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าเราช่วยไม่ไหวก็ส่งโรงพยาบาล มีบางเรื่องที่โรงพยาบาลทำได้ดีกว่า อสม.และหมออนามัยเขาลงหมู่บ้านทุกวันแก้ปัญหาได้ เขาบอกว่าตอนนี้มีความสุขมาก เพราะแก้ทุกข์ได้ ลงหมู่บ้านทุกวัน กัวซา/ขูดพิษได้ จะใช้กะลา ใช้ช้อนก็ได้ ไปขอยืมเหรียญบาทใครก็ได้ มีความสุข ไปสอนกดจุด สอนคนนั้นคนนี้ มีวิชาตั้งเยอะแยะ ผมว่า กศน.นี่แหละจะมีความสุข อาจจะถึงเวลาแล้วที่บุญเขาอั้นไว้นาน เหมือนที่ครูบาอาจารย์ว่าไว้ บุญเขาอั้นไว้นาน ถึงเวลาแล้วที่จะให้ผล บุญเขาสะสมมานานแล้ว รอวันระเบิด รอวันกระจาย ผมไม่รู้จะอธิบายยังไรแต่ผมเข้าใจนะ
กศน.เป็นผู้ที่ทำงานเสียสละ เพราะคนที่ตั้งใจทำงานจริงๆนะ เขาเหนื่อยนะ เหนื่อยช่วยคน เพราะเขาให้เราไปสอนคนด้อยโอกาส เพราะคนหัวดีๆ สอนง่ายๆ ฉลาดๆ เขาเอาไปสอนหมดแล้ว เหลือแต่คนอะไรก็ไม่รู้ให้เรา เขียน ก เขียนอยู่ครึ่งวัน ดูซิให้เราเหนื่อย เรายาก ค่าตอบแทนนิดเดียว แถมถูกดูถูกอีกต่างหาก ถ้าเขาไม่มีบุญในใจ เขาไม่อดทน อยู่ไม่ได้ บางคนอยู่ด้วยความสุขด้วยซ้ำ เพราะเขาเลี้ยงชีพเขาได้ แม้ถูกดูถูกเขาไม่แคร์ เขาอยู่ได้เพราะว่าเขามีคุณธรรม คนมีใจสูงจึงจะถูกเหยียดหยามได้ คนที่มีใจสูงเท่าไร ก็จะถูกคำติ ถูกเหยียดหยามได้ โดยใจไม่ทุกข์
รู้มั๊ยพระราหุ ลพระราชโอรสของพระพุทธเจ้า ลูกกษัตริย์ท่านคิดดูเอาเองแล้วกัน ก่อนจะบรรลุธรรม มีอัตตามานะหยิ่งยโสโอหัง พระสารีบุตรสอนจนเหนื่อยเมื่อยเลย สอนไม่ไหวแล้ว จึงขอพระบารมีของพระพุทธเจ้าให้ช่วยสอน พระพุทธเจ้าสอนพระราหุลว่า เธอจงทำตัวเหมือนแผ่นดิน เท่านั้น พระราหุลบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เลย การทำตัวให้เหมือนแผ่นดิน ก็คือการทำให้ตัวหนักแน่น ไม่สะดุ้งสะเทือน ไม่หวั่นไหว ทำตัวให้ต่ำ แต่มีคุณค่า ให้คนเหยียบได้ ให้คนถ่มน้ำลายรดได้ ให้คนขี้รด เหยี่ยวรดก็ได้ คนมีภูมิ ธรรมนะโดนอะไรก็ไม่หวั่นไหว อยู่อย่างต่ำแต่กระทำอย่างสูง อยู่เกื้อกูลคนให้คนได้อาศัย
กศน. อยู่ได้อย่างไร ถ้าเขาเป็นคนที่ไม่มีคุณธรรม เขาจะอยู่ไม่ได้หรอก อกแตกตาย จริงๆนะไม่ต้องไปน้อยใจหรอก เวลาโดนอะไรมากระทบในทางที่ไม่ดี เชื่อมั๊ยว่าพระพุทธเจ้าก็ถูกคนด่าว่า สมณะโล้นอย่างนั้นอย่างนี้ มนุษย์ประเสริฐที่สุดยังถูกด่าว่า ยิ่งเราถูกด่าเท่าไรเวรกรรมเรายิ่งหมด ยิ่งโดนเวรกรรมก็ยิ่งหมด อย่าไปเสียดายเลยเวรกรรม ชดใช้ไป ยิ่งชดใช้เวรกรรมก็ยิ่งหมด
ทุก ครั้งที่พระพุทธเจ้า ถูกวิบากบาปจัดสรรให้ใช้เวรใช้กรรมที่เคยหลงพลาดทำมาก่อน เวรกรรมก็ยิ่งหมดไปเท่าที่ได้รับผลของวิบากบาป ทำให้วิบากบุญแสดงผลได้มากเพราะไม่มีวิบากบาปกั้น ดังนั้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าถูกด่าว่าหรือได้รับวิบากที่ไม่ดีต่างๆ เวรกรรมนั้นๆก็จะลดหรือหมดไป วิบากบุญจะเปล่งประกายแสดงผลมากขึ้นทันที เพราะท่านทำแต่ความดี โดยไม่ทำบาปเพิ่ม
เมื่อ ถูกใส่ร้ายด้วยคำที่ไม่จริง ๗ วัน พระพุทธเจ้าและสาวก บิณฑบาตรแทบไม่ได้ของใส่บาตรเลย พอพ้น ๗ วัน วิบากบาปถูกชดใช้หมด ผู้คนจึงรู้ความจริงว่าท่านและสาวกไม่ได้ทำสิ่งที่ไม่ดี ตามที่เขากล่าวหา พอบิณฑบาตรของที่คนมาทำบุญเพียบเลย
ไม่มีคนดีคน ใดที่ไม่เคยทำชั่วมา ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่คนดีจะไม่ถูกด่า ไม่ถูกว่า ไม่ถูกดูถูก ไม่ถูกสิ่งไม่ดีสารพัด ถ้าใครอยากเป็นคนดีที่มีความสุข ทำดีถูกด่าให้ได้ ทำดีถูกดูถูกให้ได้ ทำดีถูกนินทาให้ได้ ทำดีถูกเข้าใจผิดให้ได้ ทำดีถูกแกล้งให้ได้ ทำดีถูกทำไม่ดีตอบสารพัดเรื่องให้ได้ คุณจะเป็นคนดีที่มีความสุข
ขนาด พระพุทธเจ้าท่านทำดีท่านยังโดนแกล้งโดนสิ่งไม่ดี สารพัดเลย แต่ท่านก็ไม่ได้ทุกข์ใจใดๆเลย เพราะท่านรู้ว่าไม่มีคนดีคนใดไม่เคยทำชั่วมา เพราะถูกด่าเวรกรรมมันก็หมด รับเสร็จก็หมด พอวิบากบาปหมดบุญก็ขึ้น
นี่ อย่าคิดว่าผมไม่โดนนะ หลายคนคิดว่าหมอเขียวทำดีไม่ถูกด่า คงมีแต่คนชม ความเป็นจริงโลกธรรมเขาส่งมาครบเครื่องนะ มีครบทั้งคนชมคนด่า มีคนเขานินทา มีคนจะคว่ำกระดาน ใส่ร้ายหนักๆ จนลูกศิษย์ผมบางคน หงุดหงิด โมโห ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ใน คนที่ใส่ร้ายผมเลยนะ ขึ้นเลย อาจารย์เราทำดีขนาดนี้มาทำกับอาจารย์ได้ไง มีคนจะไปซัดเขาเลย แต่ผมว่าอย่าๆ อย่าไปทำเขา ผมทำดีขนาดนี้ ยังโดนขนาดนี้ แปลว่าอะไร แปลว่าผมแสบมาก ชาติใดชาติหนึ่งผมคงไปทำกับเขาหรือกับใครๆมามาก ไม่รู้เท่าไหร่ เพราะทำดีขนาดนี้ยังโดนซะเละเลย ยังโดนซัดขนาดนี้ ยังต้านไม่อยู่ ถ้าไม่ทำดีขนาดนี้ เชื่อมั๊ยว่า เละหนักกว่านี้แน่นอน
ถ้า รู้ตัวว่าเรากำลังทำดีอยู่ สิ่งหนึ่งที่พึงมีสติ พิจารณาระลึกรู้เลยว่า สิ่งไม่ดีที่เราโดนนั้น เราได้รับน้อยกว่าที่เราทำไม่ดีมาจริง เพราะขนาดมีความดีมาช่วยต้านไว้ ยังโดนเลย แต่ก็โดนน้อยกว่าสิ่งไม่ดีที่เราทำมาจริง ไม่ดีหรือไง ถ้าเราโดนเท่าที่ทำมาจริง จะเป็นไง หนักว่าที่รับอยู่แน่ๆ
แต่ คนที่มาซัดเราน่ะซวยเลยนะ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อใครกระทำสิ่งใดด้วยเจตนา สิ่งนั้นจะสั่งสมลงเป็นพลังงานวิบากกรรมทันที รอวันรับผลจากการกระทำนั้นทันที

ดัง ข้อมูลในพระไตรปิฎก เล่ม ๓๗ ข้อ ๑๖๙๘ “พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวความที่กรรมอันเป็นไปด้วยความจงใจ ที่บุคคลทำแล้ว สะสมแล้วจะสิ้นสุดไป เพราะมิได้เสวยผล แต่กรรมนั้นแล จะให้ผลในภพนี้ หรือในภพถัดไป หรือในภพอื่นสืบๆ ไป” เหมือน กับพระเทวทัต คิดฆ่าพระพุทธเจ้า และลงมือกลิ้งหินทับ แต่ก็ฆ่าไม่ได้ สะเก็ดหินโดนพระบาทห้อเลือด ด้วยวิบากกรรมนั้นของเทวทัต จึงดลให้แผ่นดินสูบเทวทัตตาย ซึ่งเหตุเกิดจาก ในชาติที่พระพุทธเจ้ายังไม่บำเพ็ญ ได้ไปฆ่าน้องชายต่างมารดาซึ่งก็คือเทวทัตนั่นเอง
ดังพระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ว่าด้วยบุพจริยาของพระองค์เอง
ข้อ ๓๙๒ พระผู้มีพระภาคผู้เป็นนายกของโลก แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เป็นอันมาก ประทับนั่งอยู่ที่พื้นหินอันเป็นรัมณียสถานโชติช่วงด้วยแก้วต่างๆ ในละแวกป่า อันมีกลิ่นหอมต่างๆ ใกล้สระอโนดาต ตรัสชี้แจงบุรพกรรมทั้งหลาย ของพระองค์ ณ ที่นั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังกรรมที่เราทำแล้วของเรา
ในกาล ก่อน เราได้ฆ่าพี่น้องชายต่างมารดา เพราะเหตุแห่งทรัพย์ จับใส่ลงในซอกเขา และบด (ทับ) ด้วยหิน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระเทวทัตจึงผลักก้อนหิน ก้อนหินกลิ้งลงมากระทบนิ้วแม่เท้าของเราจนห้อเลือด
จะ เห็นได้ว่า ในชาติก่อนพระพุทธเจ้าไปฆ่าเทวทัตซึ่งเป็นน้องชายต่างมารดามาก่อน พอมาถึงชาติที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ วิบากกรรมของพระพุทธเจ้าก็ดลดึงให้เทวทัตมาฆ่าคืน แต่ก็ฆ่าคืนไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านทำความดีมาเยอะ ความดีก็บรรเทาสิ่งที่ไม่ดีให้เบาบางลง จึงโดนแค่พระบาทห้อเลือด ท่านรู้ว่าท่านทำมา ท่านจึงไม่ได้โกรธเทวทัต แต่เทวทัตสิน่าสงสารจะตาย มาเอาคืนก็เอาคืนได้ไม่มาก เพราะพระพุทธเจ้าทำดีมากแล้ว แถมวิบากบาปของเทวทัตหนักกว่าเก่าอีก เพราะเขามีเจตนาทำ แล้วไปทำไม่ดีกับคนดี วิบากก็หนักสิ ซวยเลย ถูกธรณีสูบ พระพุทธเจ้าไม่ตายแต่เทวทัตตายเลย
ที่ผมทำมาอาจ จะหนักก็ได้ คงไปฆ่าเขาหรือฆ่าใครๆมาก็ได้ แต่ชาตินี้เขาไม่ได้มาฆ่าเราก็ ดีนักหนาแล้ว แค่เตะเราหรือแค่ใส่ร้ายเราก็ดีนักหนาแล้ว น่าสงสารเขา เราช่วยเขาไม่ได้ เขาเอาคืนก็เอาคืนได้ไม่มาก วิบากเขาจะหนัก เพราะมาทำไม่ดีกับเราตอนที่เราบำเพ็ญบุญ เราช่วยเขาไม่ได้ก็ต้องปล่อยเขาลงนรกไป ถ้าทำกับเราตอนที่เราทำไม่ดี เราก็คงได้รับวิบากบาปรุนแรงพอๆกับที่เราทำมา
ท่านกลับ จากอบรมไป แม้จะไปทำดีได้เท่าไรก็ตาม ถ้าเราทำเต็มที่ นั่นคือความสุข ความสุขคือทำเต็มที่ ความสุขไม่ใช่ทำสำเร็จ ย้ำความสุขไม่ใช่ทำสำเร็จ และความสุขไม่ใช่ทำเสร็จ สุขแท้คือทำเต็มที่ ทำเต็มที่แล้วก็สุขเต็มที่ได้แล้ว ทำดีที่สุดแล้วก็สุขที่สุดได้แล้ว สุขได้เลย เพราะมันดีที่สุดได้แค่เต็มที่ ไม่ใช่ดีที่สุดที่สำเร็จ และไม่ใช่ดีที่สุดที่เสร็จ ทำเต็มที่แล้วสุขได้เลย ทุกอย่างดีที่สุดได้แค่เต็มที่ ไม่ใช่ดีที่สุดที่สำเร็จ เพราะงานบางงานไม่เสร็จง่ายๆหรอก แล้วคุณจะไปสุขตอนเสร็จหรือ แล้วทำไมไม่สุขตอนทำเต็มที่หล่ะ
พระพุทธเจ้าตรัส ไว้ว่า “วิริเยนะ ทุกขมะเจติ” คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร เพียรเต็มที่ก็สุขแล้ว ย้ำเพียรเต็มที่ก็สุขเต็มที่แล้วนี่คือสัจจะ
พี่ น้อง กศน. ไม่ต้องไปน้อยใจนะ จงภาคภูมิใจที่เราทำดี แล้วคนดูถูก เวรกรรมเราก็หมดนะ เราถูกดูถูกดูแคลน เวรกรรมเราก็หมด ขนาดพระพุทธเจ้าท่านทำดีมากกว่าเราก็ยังถูกบางคนดูถูก
เรา เป็นขวัญใจของคนที่มีปัญญาแท้ก็พอแล้ว ทำไมต้องเป็นขวัญใจของคนไม่มีตา ทำไมต้องไปเป็นขวัญใจของคนไม่มีปัญญา ทำไมต้องการรับคำชมจากคนที่ไม่มีปัญญา ไม่มีตา
เขา จะไปชื่นชมอะไรที่ไร้สาระก็ช่าง คนที่มีปัญญาแท้เขาจะรู้สาระประโยชน์ที่แท้จริง คนที่มีปัญญาแท้ ๑ คน รู้เข้าใจและเห็นค่า ชื่นชม เชิดชู และสนับสนุนสิ่งดีที่เราทำ ดีกว่าคนตอแหลล้านๆ คน มีแต่คำตอแหล จะไปเอาทำไม ให้มันเป็นไปตามสัจจะนั้นแหละดีที่สุด อย่าไปอยากได้จากคนไม่มีตา แม้ว่าเราจะถูกดูถูกดูแคลน จงจำไว้ว่า ไม่มีอะไรที่เราได้รับโดยที่เราไม่ทำมา ชาติใดชาติหนึ่งเราไปดูถูกดูแคลน กศน.หรือดูถูกใครๆมาก่อนชาตินี้ต้องมาชดใช้กรรม อย่างผมเคยไปดูถูกแพทย์ทางเลือกมาก่อน ชาตินี้ต้องมาเป็นแพทย์ทางเลือกเสียเอง ก็ถูกดูถูก มันก็ถูกต้องเหมาะสมตามธรรมแล้ว เมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าแพทย์ทางเลือกก็มีสิ่งที่ดี ตอนนี้เรารู้ว่าดี เราก็ทำซิ ผมเคยไปดูถูก กศน. มาก่อน เมื่อก่อนเราไม่รู้ว่า กศน. ก็มีสิ่งที่ดี นอกระบบนั้นแหละดี มันไม่มีกรอบขวาง เราสามารถทำสิ่งที่ดีได้มากได้หลากหลาย เราน่ะโชคดีแล้ว มันไม่มีกรอบขวาง ทุกวันนี้อย่าไปคิดว่าในระบบจะดี มันมีกรอบมีตอขวางเต็มไปหมด จะทำสิ่งสร้างสรรที่ดีๆได้ลำบาก แต่โดยสัจจะแล้วไม่ใช่ว่าอยู่ในระบบหรือนอกระบบจะดีกว่ากันหรอก อยู่ที่ว่าใครจะมีสาระที่เป็นประโยชน์แท้ต่อตนเองและผองชนมากกว่ากัน เพียงแต่ทุกวันนี้โดยส่วนใหญ่ในระบบไม่ค่อยจะมีสาระแท้เท่านั้นเอง จึงต้องอาศัยนอกระบบเพื่อเข้าสู่สาระประโยชน์ที่แท้จริง
บางท่านได้สัจจะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูถูกดูแคลน ความจน ความรวย ถ้าท่านใดฟังแล้วเลิกอยากรวย สาธุคุ้มเลย จะอยากรวยอยากซวยไปทำไม ความรวยไม่ใช่ความสุข ความรวยไม่ใช่ความมั่นคง ยิ่งรวยยิ่งทุกข์ ยิ่งรวยยิ่งไร้ค่า ยิ่งรวยยิ่งไม่ปลอดภัย ยิ่งรวย ยิ่งอันตราย ยิ่งรวย ยิ่งทุกข์ ยิ่งเหนื่อย ไม่มีประโยชน์อะไรซักอย่าง อย่าคิดว่าคนรวยมีความสุข จริงๆ ชีวิตมันควรจะอยากอะไร จริงๆ ชีวิตอยากมั่นคง ปลอดภัย มีคุณค่า ประเสริฐ และผาสุก นี้คือคนพอเพียง เป็นคนจนที่ไร้กังวล ไร้ทุกข์
เราขยันทำมาหากินเต็มที่ เก็บไว้เท่าที่ต้องกินต้องใช้ ที่เหลือกินเหลือใช้ก็แบ่งปัน พอแบ่งปันไปเราก็จะไม่รวย เราจะเป็นคนจนอีกแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนบ้าน ไม่เหมือนเมือง ไม่เหมือนคนอื่นเขา แบ่งปันก็ไม่รวย แต่จนอย่างมีคุณค่าเพราะแบ่งปัน ไม่รวย แต่จะ ไม่เป็นคนจนแบบสิ้นไร้ไม้ตอก จะไม่ใช่คนฐานะกลางๆแต่ยังอยากรวยอยู่ และไม่ใช่คนรวยที่ไม่รู้จักพอหรือไม่รู้จักแบ่งปัน ความจริงแล้วขอทานก็ทุกข์พอๆกับคนรวย แต่ขอทานไม่ทุกข์เท่าคนรวย เพราะขอทานก็ทุกข์แค่อยากมีกินมีใช้พอประทังชีวิต แต่คนรวยทุกข์มากกว่าขอทาน เพราะมีสมบัติมากกว่าจึงต้องกังวลมากกว่าในการดูแลรักษา กังวลเพราะอยากมีมากยิ่งขึ้นก็ทุกข์มากขึ้น คนรวยก็จะมีความอยากได้อยากเป็นอยากมีเรื่องนั้นเรื่องนี้มากกว่าขอทาน จึงทุกข์มากกว่าขอทาน หลายคนในโลกนี้คิดว่าคนรวยมีความสุขกว่าคนฐานะอื่นๆ ก็เชิญลองรวยดูแล้วจะรู้ซึ้งว่ารวยแล้วเป็นทุกข์จริงๆ
อยาก ให้มีคนทำวิจัยความสุขความทุกข์ของคนรวย มีเรื่องเล่านี้เป็นเรื่องจริงอจินไตย(เข้าใจได้ยาก รู้ตามได้ยาก) คนรวยเอาไปกักตุนไว้มากๆ ก็จะมีวิบากที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ขาดแคลน ลำบาก วิบากกรรมนั้นจะเขียนเรื่องให้เขาเดือดร้อน บางครั้งจนเขาต้องฉีดยานอนหลับ มีความกังวลมีภาระที่ต้องแก้ปัญหาเรื่องนั้นเรื่องนี้เต็มไปหมดเลย ถ้าคนเข้าใจกรรมเข้าใจจิตวิญญาณจะเข้าใจชัด
เหมือน เมื่อเราสมัยก่อนเมื่อเรายังไม่มีงานทำ คิดว่ามีงานทำจะมีความสุข พอมีเงินเดือนแล้วเป็นไง ทุกข์กว่าเก่า/หนักกว่าเดิมอีก ชาวบ้านมองคุณครูว่าคงมีความสุขนะ มีเงินเดือนมีหน้ามีตา แล้วจริงๆคุณครูมีความสุขต่างจากตอนเป็นชาวบ้านมั๊ย เผลอๆทุกข์หนักกว่าชาวบ้านอีก บางทีชาวบ้านยังอยู่เฉยๆ แต่เจ้านายใช้เราให้ส่งงานเร็วๆ ชาวบ้านเขาจะรู้กับเรามั้ย ว่ามีเรื่องไหนบ้างที่กดดันเราอยู่ พอๆกับเราที่คิดว่าเราเป็นเจ้านายจะมีความสุข พอเป็นเจ้านายแล้วเป็นไง ทุกข์หนักกว่าเดิมอีก ทุกข์จากหน้าที่ที่ต้องบริหารรับผิดชอบ ทุกข์จากลูกน้องคาดหวัง ทุกข์จากเจ้านายที่เหนือกว่ากดดัน ทุกข์จากต้องรักษาต้องหวงแหนผลประโยชน์ตำแหน่งลาบยศสรรเสริญ แท้จริงแล้วความสุขไม่ได้อยู่ที่เป็นอะไร แต่ความสุขอยู่ที่ใช้ชีวิตเป็น มีทักษะการดำเนินชีวิตที่ผาสุก เป็นอะไรก็ไม่มีค่าเท่ากับเป็นสุขหรอก
เป็น อะไรก็เป็นสุขได้ถ้าใช้ชีวิตเป็น เป็นอะไรก็ไม่เป็นสุขถ้าใช้ชีวิตไม่เป็น ต่อให้เป็นหัวหน้าเป็นลูกน้องก็ไม่สุขหรอกถ้าใช้ชีวิตไม่เป็น ถ้าอยากเป็นคนรวยให้ลองไปอยู่กับคนรวยสัก ๑ เดือน ก็จะรู้เห็นว่าเขาทุกข์แค่ไหนอย่างไร เพียงแต่เขาไม่เปิดเผยให้คนทั่วไปรู้เท่านั้น ถ้าเขาเปิดเผยออกมานะ มีปัญหาอะไรเยอะแยะมากมาย เช่น คนนั้นคนนี้ก็ไม่ได้ดั่งใจ ลูกคนนั้นก็เลวอย่างนั้นอย่างนี้ ญาติคนนั้นก็มายืมเงินไม่คืน บางคนมายืมเงินเราไม่ให้เขาเขาก็โกรธเรา เป็นศัตรูกับเราอีก ก็วุ่นวาย จะมาฆ่าเราหรือไม่ มันจะทะเลาะ กลัวคนจะคดโกงแย่งชิงสมบัติตรงนั้นตรงนี้ กลัวสมบัติที่ดูแลไม่ทั่วถึงจะเสียหาย มีเรื่องมากมายให้คนรวยทุกข์ มันจะปรุงจะคิดมาก จะฝันฟุ้งไม่สงบ กรรมเขาจะเขียนเรื่องให้ทุกข์กังวลวุ่นวายเยอะแยะไปหมด
ถ้า ความรวยทำให้มีความสุขจริง พระพุทธเจ้าไม่ทิ้งบ้านทิ้งเมืองไปสู่การ ไม่เอาอะไรหรอก แต่ท่านก็จนอย่างมีความสุข ไม่ใช่จนอย่างสิ้นไร้ไม้ตอก ไม่ใช่จนแบบงอมืองอเท้า ไม่ใช่จนอย่างไม่สุข แต่จนอย่างมีคุณค่า
เราทำงานเต็มที่แล้วเรา จนแบบแบ่งปัน เราพอกินพอใช้ก็พอ แล้วเราก็แบ่งปัน จนเพราะเราตั้งใจจน จนเพราะเรากล้าจน ทำไมเราจึงกล้าจน เพราะเรารู้ว่าจนมีค่า จะประเสริฐที่สุด คนอื่นจะไม่ขาดแคลนเพราะเรา
คน รวยคือคนที่ไม่มีค่าในโลก ถ้าคนรวยอยากมีค่าต้องทำยังไงครับ เขาต้องจนต้องแบ่งปันซิ แบ่งปันเมื่อไหร่ก็มีค่าเมื่อนั้น แบ่งปันแล้วจะรวยมั๊ย แล้วจะรวยอย่างไร มันจะจน แต่ก็จะมีสภาพซ้อน แบ่งปันแล้วจน แต่มันก็จะรวย มันจะซ้อน แบ่งปันแล้วจะจนลง แต่เดี๋ยวจนสักพัก ก็จะรวยอีกแล้ว
ยิ่ง สลัดออกไปมันยิ่งกลับมา คนอื่นได้ประโยชน์ มันก็จะยิ่งกลับมา มันก็จะหมุนวนออกไป ยิ่งหมุนวนออกไป ยิ่งมาก ยิ่งมาก ยิ่งสลัดออกไปได้ คนได้ประโยชน์อีกแล้ว บุญก็จะมา บุญก็จะยิ่งมา
พระพุทธเจ้าจึงรวยขึ้นทุกชาติ ทุกชาติ ทุกชาติ ทุกชาติ พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ ข้อ ๑๕๒ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน เมื่อตรวจดูมหาชนที่ควรสงเคราะห์… แล้วทำกิจเป็นประโยชน์อันพิเศษในบุคคลนั้นๆ ในกาลก่อนๆ ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทำ สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ… เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจึงได้รับผลข้อนี้ คือ เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก…”
จะเห็นได้ว่ายิ่งให้ยิ่งได้ เหตุแห่งการรวยคือการให้ ให้โดยไม่เอาอะไรเลยยิ่งรวย ไม่รู้สอนให้รวยหรือสอนให้จน ทั้งรวยทั้งจน ถ้าเรารู้สาระเรารวยด้วยสัจจะ รวยด้วยสิ่งที่มั่นคงปลอดภัยและผาสุก รวยด้วยวิบากดี วิบากที่เรารวยนั้นแหละ รวยคุณงามความดี รวยด้วยวิบากดี วิบากดีจะสั่งสมในจิตวิญญาณเราไปข้ามภพข้ามชาติ ดลให้เราได้รับสิ่งที่ดีๆ
หลาย ท่านทำความดีสะสมมาหลายชาติ ไม่งั้นท่านไม่ได้เกิดมาในเมืองไทยหรอก ไม่มีผืนดินเป็นของตัวเองหรอก แค่มีผืนดินไร่สองไร่ก็เลี้ยงชีพได้ ที่ที่มีดินน้ำลมไฟเหมาะ คือเมืองไทย ที่ที่เหมาะสมที่สุดคือเมืองไทย พื้นที่ไม่กี่ไร่ก็เป็นสวรรค์ได้ ที่เหมาะสมที่สุดในโลกคือเมืองไทย ดังนั้นเราจึงควรพากเพียรเติมบุญเข้าไปอีกเพื่อให้ก่อเกิดสิ่งที่ดีงามยิ่ง ขึ้นๆ
จริงๆหลายท่านก็ไม่ได้อยากมาเข้าค่ายหรอก ใช่มั๊ย ถ้าบุญไม่ถึงรอบ ก็คงไม่ได้มา บางท่านบุญเต็มๆเลยอยากมาบุญถึงเลย บางท่านบุญถีบ เพราะท่านทำบุญมาท่านก็ต้องได้ดี บุญถีบมาถึงไปไหนก็ไม่ได้ ไปได้เหมือนกันไปตลาด แต่ก็ยังฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้าหูไว้ บุญของท่านเขาบังคับให้ พอถึงเวลาที่จะได้ บางสิ่งบางอย่าง เขาจะบังคับให้ ผมเองก็ไม่ได้อยากมาเป็นแพทย์วิถีธรรม มากินจืดๆไม่อร่อย อยากไปซื้อของกินอร่อยๆ บุญก็บังคับมา บุญก็ส่งความรู้มาให้ บุญส่งมาให้กินข้าวกับเกลือ เมื่อเพิ่งรับราชการได้ ๓ ปี เพิ่งเริ่มได้เงินได้ทอง บุญก็ไม่ยอมให้หลงนรกนาน(สวรรค์ลวงหรือนรกจริง) เราก็ไม่ได้อยากมาทำ แต่พอมาทำแล้วก็มีความสุข ถึงเวลาแล้วก็เอาสัจจะไป บุญเขาส่งให้เรา
พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน “มหาปทานสูตร” ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงสวดพระปาติโมกข์ในที่ประชุมพระภิกษุสงฆ์ดังนี้ ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่นผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑ หกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ(พระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ข้อ ๕๔)
จะเห็นได้ว่า สาระแท้ของการปฏิบัติธรรมตามคำตรัสของพระพุทธเจ้านั้น เป็นการปฏิบัติที่ทำให้เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริงทั้งต่อตนเองและผู้อื่นไป พร้อมๆกันเสมอ
สอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน “โกสัมพิยสูตร” ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดานี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ อริยสาวกถึงความขวนขวายในกิจใหญ่น้อยที่ควรทำอย่างไรของเพื่อน สหพรหมจารีโดยแท้ ถึงอย่างนั้น ความเพ่งเล็งกล้าในอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ของอริยสาวกนั้นก็มีอยู่ เปรียบเหมือนแม่โคลูกอ่อน ย่อมเล็มหญ้ากินด้วยชำเลืองดูลูกด้วยฉะนั้น. อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดอยู่อย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น. นี้ญาณที่ ๕ เป็นอริยะ เป็นโลกุตระไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.(พระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ ข้อ ๕๔๗)
จะเห็นได้ว่า การขวนขวายในกิจน้อยใหญ่/การชำเลืองดูลูกด้วย ก็คือการทำประโยชน์สุขให้กับท่าน(ผู้อื่น) ส่วนการเพ่งเล็งกล้าในอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา/เล็มหญ้ากิน ก็คือการทำประโยชน์สุขให้กับตน เพราะศีลสมาธิปัญญา จะทำให้ตนพ้นทุกข์ ดังนั้น การปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างแท้จริงนั้น จะต้องปฏิบัติประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านพร้อมกันเสมอ
พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงตรัสสั่งสอนไว้ ใน”อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร” ว่า “…พึงพิจารณาเนืองๆว่า…เราย่อมติเตียนตนเองได้โดยศีลหรือไม่…เพื่อน พรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ติเตียนเราได้โดยศีลหรือไม่…บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เราต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น…เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจักทำกรรมใดดีหรือชั่วก็ตาม เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น …วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่…ญาณทัสนะวิเศษอันสามารถกำจัดกิเลส เป็นอริยะ คือ อุตริมนุสธรรมอันเราได้บรรลุแล้วมีอยู่หรือหนอ…” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๔๘)
จะเห็นได้ว่า คำว่า “เราต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น” “วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่” เป็นการที่พระพุทธเจ้าให้สติกับสาวก ไม่ให้ประมาทในชีวิต ให้เร่งปฏิบัติศีลโดยการละชั่ว บำเพ็ญความดี พร้อมกับทำจิตใจให้ผ่องใสด้วยการกำจัดกิเลส คือความยึดมั่นถือมั่นอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ซึ่งเป็นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านไปพร้อมกัน
ประโยชน์ตนทำอย่างไรก็ได้ ให้ชีวิตเราผาสุกอย่างยั่งยืน ด้วยการพึ่งตน ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้า ว่า “หากว่าบุคคลพึงรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้ พึงรักษาตนนั้นไว้ ให้เป็นอัตภาพอันตนรักษาดีแล้ว บัณฑิตพึงประคับประคองตนไว้ตลอดยามทั้งสาม ยามใดยามหนึ่ง บุคคลพึงยังตนนั้นแลให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน พึงพร่ำสอนผู้อื่นในภายหลัง บัณฑิตไม่พึงเศร้าหมอง หากว่าภิกษุพึงทำ ตนเหมือนอย่างที่ตนพร่ำสอนคนอื่นไซร้ ภิกษุนั้นมีตนอันฝึกดีแล้วหนอ พึงฝึก ได้ยินว่าตนแลฝึกได้ยาก ตนแลเป็นที่พึ่งของตน บุคคลอื่นใครเล่าพึงเป็นที่พึ่งได้ เพราะว่าบุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันได้โดยยาก ความชั่วที่ตนทำไว้เองเกิดแต่ตน มีตนเป็นแดนเกิด ย่อมย่ำยีคนมีปัญญาทรามดุจเพชร ย่ำยีแก้วมณีที่เกิดแต่หิน ฉะนั้น ความเป็นผู้ทุศีล ล่วงส่วน ย่อมรวบรัดอัตภาพของบุคคลใด ทำให้เป็นอัตภาพอันตนรัดลงแล้ว เหมือนเถาย่านทรายรวบรัดไม้สาละให้เป็นอันท่วมทับแล้ว บุคคลนั้นย่อมทำตนเหมือนโจรผู้เป็นโจกปรารถนาโจรผู้เป็นโจก ฉะนั้น กรรมไม่ดีและไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ทำได้ง่าย ส่วนกรรมใดแล เป็นประโยชน์ด้วยดีด้วย กรรมนั้นแลทำได้ยากอย่างยิ่ง ผู้ใดมีปัญญาทราม อาศัยทิฐิอันลามก ย่อมคัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผู้อรหันต์ เป็นพระอริยเจ้า มีปกติเป็นอยู่โดยธรรม การคัดค้านและทิฐิอันลามกของผู้นั้น ย่อมเผ็ดเพื่อฆ่าตน เหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ฉะนั้น ทำชั่วด้วยตนเอง ย่อมเศร้าหมองด้วยตนเอง ไม่ทำชั่วด้วยตนเอง ย่อมหมดจดด้วยตนเอง ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตัวคนอื่นพึงชำระคนอื่นให้หมดจดหาได้ไม่ บุคคล ไม่พึงยังประโยชน์ของตนให้เสื่อม เพราะประโยชน์ของผู้อื่นแม้มาก บุคคลรู้จักประโยชน์ของตนแล้ว พึงขวนขวายในประโยชน์ของตนฯ (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๒)
และในขณะเดียวกัน ทำอย่างไรก็ได้ให้เพื่อนร่วมโลกของเราได้ประโยชน์จากเรามากที่สุดเท่าที่เรา จะทำได้ ดังในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ ข้อ ๑๐๘ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “พรหมจรรย์นั้นจะพึงเป็นไป เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย คืออะไรบ้างคือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ดูกรจุนทะ ธรรมทั้งหลายเหล่านี้แล อันเราแสดง แล้วด้วยความรู้ยิ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่บริษัททั้งหมดเทียว พึงพร้อมเพรียงกันประชุม รวบรวมตรวจตราอรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วยพยัญชนะ โดยวิธีที่พรหมจรรย์ นี้จะพึงตั้งอยู่ตลอดกาล ยืดยาว ตั้งมั่นอยู่สิ้นกาลนาน พรหมจรรย์นั้นจะพึงเป็นไป เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลายฯ”
จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ทำประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านไปพร้อมๆกัน ก็คือผู้ที่พึ่งตนและแบ่งปัน ผลบุญนั้นก็จะเขียนบท/ดลให้เกิดสิ่งที่ดีทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เป็นคุณสมบัติของคนพอเพียง อันเป็นชีวิตที่มั่นคง มีคุณค่า และผาสุกที่สุดในโลก
ท้ายนี้ผู้เขียนขอส่งกำลังใจ ให้พี่น้องผองเพื่อนร่วมโลก ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ฝึกฝนให้ชีวิตอยู่เย็นเป็นสุขกันทุกท่านครับ
จริงใจ ไมตรี มีอภัย ไร้ทุกข์
ใจเพชร กล้าจน
เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพมหานคร : กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๑๔.
คณะ อนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง. คำพ่อสอน: ประมวลพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงเทพ, ๒๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น